การพังทลายของชายฝั่งและการห้ามก่อสร้างโครงสร้างแข็งป้องกันฝั่ง

การพังทลายของชายฝั่งและการห้ามก่อสร้างโครงสร้างแข็งป้องกันฝั่ง

กรณีหาดทรายของรัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา

โดย เอมิลี แจ๊ค

uploadpic

Ocracoke ใน Outer Banks ได้ชื่อว่า America’s Best Beach ในปี  2007 โดย ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาชายฝั่ง ของ Florida International University

ชายหาดทรายของรัฐนอร์ทแคโรไลน่า เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมติดอันดับของรัฐ และยังเป็นสถานที่ที่มีประเด็นถกเถียงบ่อยที่สุดแห่งหนึ่ง ของรัฐด้วย ชายฝั่งตะวันออกความยาว 301 ไมล์นี้ เป็นสถานที่แห่งการเผชิญหน้ากัน ระหว่างสิ่งก่อสร้างถาวรโดยมนุษย์กับพลังธรรมชาติ และระหว่างสิทธิในการถือครองที่ดินของมนุษย์ กับระบบธรณีวิทยาทางธรรมชาติที่ดำเนินมาหลายพันปี นักวิทยาศาสตร์ชายฝั่งต่างพอใจกับกฎหมายในปี 1985 ที่ถูกบัญญัติไว้เพื่อรักษาธรรมชาติของชายหาด แต่ในขณะเดียวกันกฎหมายดังกล่าวกลับเป็นอุปสรรค ต่อการลงทุนของนักพัฒนาและผู้ถือครองอสังหาริมทรัพย์

วิทยาศาสตร์กับเม็ดทราย

นอกจากสายลมและคลื่นจะดึงดูดผู้คนให้มาเที่ยวชมชายหาด พวกมันยังมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงแนวชายหาด ซึ่งเกิดจากทรายและตะกอนที่ถูกพัดพา จากที่หนึ่งไปกองใหม่ในอีกที่หนึ่ง อันเป็นกระบวนการทางธรรมชาติของชายฝั่ง ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องที่ชายฝั่งของรัฐนอร์ทแคโรไลนา                   ขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการการพังทลายและการงอกของชายฝั่ง ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปคือ การซัดกระทบชายฝั่งของคลื่น โดยลักษณะการซัดของคลื่นนั้น ไม่ได้แตกตัวเป็นเส้นตรงขนานไปกับชายหาด แต่จะแตกตัวเป็นแนวเอียงกับชายฝั่ง ลมและกระแสน้ำที่ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของคลื่นในลักษณะนี้ ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวอย่างต่อเนื่องของทรายตลอดชายฝั่ง

กล่าวคือ คลื่นที่พัดเข้าฝั่งจะพาทรายและตะกอนต่างๆจากท้องทะเล เข้าสู่ฝั่ง เมื่อคลื่นแตกตัวที่ชายฝั่ง ตะกอนใต้น้ำก็ถูกพัดขึ้นมาบนชายหาดในแนวเดียวกับ การเคลื่อนตัวของคลื่นด้วย และเมื่อคลื่นไถลลงจากชายหาดกลับสู่ทะเล ด้วยแรงโน้มถ่วงตะกอนบนชายหาดก็ไหลกลับลงมา เป็นแนวตั้งฉากกับแนวชายฝั่ง ซึ่งเท่ากับว่าน้ำจากทะเลและตะกอนที่ถูกพัดมานั้น จะเคลื่อนที่เป็นแนวฟันปลาไปตามชายหาดครั้งแล้วครั้งเล่า  เมื่อเวลาผ่านไปทรายและตะกอนก็จะค่อยๆถูกพัดพาหายไป จากที่หนึ่ง และมาสะสมตัวบนชายหาดอีกที่หนึ่ง เกิดเป็นแนวชายหาดที่ยาวต่อเนื่อง

ภาพการเคลื่อนที่ของเม้ดทรายตามแนวชายหาดจากการพัดพาของคลื่น

บนชายฝั่งนอร์ทแคโรไลนา รูปแบบการก่อตัวของทรายบนหาดเช่นนี้ ซึ่งเรียกกันว่าการเคลื่อนที่ของตะกอนเลียบชายฝั่ง (longshore drift) หรือ กระแสน้ำเลียบชายฝั่ง (longshore current) นั้น จะเกิดขึ้นในทิศทางจากทิศเหนือไปทิศใต้ นั่นคือเกาะสันดอนที่เรียงตัวตามแนวชายฝั่งนอร์ทแคโรไลนา ทรายจะถูกพัดจากทิศเหนือของเกาะ ไปสะสมก่อตัวขึ้นที่ปลายเกาะทางทิศใต้ โดยกระบวนการนี้อาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยบางครั้งช่องเปิดระหว่างเกาะสันดอนจะเคลื่อนย้ายได้มากถึง 1 ฟุตต่อวัน

นอกจากการเคลื่อนตัวจากเหนือไปใต้ของทรายแล้ว กลุ่มเกาะสันดอนเหล่านี้ ซึ่งรวมถึงเอาเตอร์แบงส์ และคอร์แบงส์นั้น  จะเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกเข้าหาแผ่นดินใหญ่อย่างต่อเนื่อง การเคลื่อนตัวของกลุ่มเกาะเหล่านี้ขึ้นอยู่กับลม ระดับน้ำทะเล และพายุที่จะค่อยๆผลักทรายจากฝั่งด้านทางมหาสมุทรของ กลุ่มเกาะสันดอนมายังฝั่งแผ่นดินใหญ่

แม้ว่าพลังธรรมชาติจะคอยเคลื่อนทรายอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่กลุ่มเกาะสันดอนเหล่านี้กลับคงสภาพอยู่ได้ในสภาพ สมดุลพลวัต  กล่าวคือ กลุ่มเกาะเหล่านี้จะได้รับทรายจากแม่น้ำบนแผ่นดินใหญ่ เช่น แม่น้ำเคปเฟียร์ แม่น้ำนิวส์ แม่น้ำโรอาโนค และแม่น้ำทาร์  ซึ่งไหลลงทะเล และพัดนำตะกอนไปหล่อเลี้ยงกลุ่มเกาะสันดอน และช่องเปิดระหว่างสันดอนที่กล่าวมานี้ คือระบบนิเวศที่ได้รับสมดุลจากแรงกระทำทางธรรมชาติที่ซับซ้อน หลายประการ ซึ่งความซับซ้อนนี้ยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นอีก เมื่อมนุษย์ได้เข้ามามีบทบาทในกระบวนการทางธรรมชาตินี้

การก่อสร้างบนหาดทรายที่ไม่อยู่นิ่ง

แม้ว่าการเคลื่อนที่ของตะกอนทรายชายฝั่ง จะสามารถให้หลักประกันถึงความมั่นคงระยะยาวของชายฝั่งได้ แต่การเลือกสถานที่ก่อสร้างบนชายหาด ก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจไว้วางใจได้ บ้านเรือนที่อยู่ริมทะเลแม้ถูกที่สร้างห่างจากทะเลนั้น สุดท้ายแล้วก็อาจถูกคลื่นซัดมาถึงประตูบ้าน เพราะการเคลื่อนตัวไปมาของหาดทราย อย่างไรก็ตาม                   จำนวนประชากรในรัฐนอร์ทแคโรไลนาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ได้กลายเป็นแรงกดดันให้ต้องมีการสร้างที่อยู่ตามแนวชายฝั่ง เพิ่มขึ้น

มาตรการหนึ่งที่ใช้กันในมลรัฐอื่นๆที่อยู่ริมฝั่งมหาสมุทร คือสิ่งก่อสร้างป้องกันฝั่งเช่น เขื่อนกันทรายและคลื่น คันดักตะกอน  และกำแพงกันคลื่น ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อยับยั้งการเคลื่อนตัวของทรายตามธรรมชาติ โดยที่

o เขื่อนกันทรายและคลื่น จะถูกสร้างให้ยื่นลงไปในทะเลในแนวตั้งฉากกับชายฝั่ง เขื่อนนี้ จะหยุดการเคลื่อนตัวของทรายชายฝั่ง ไม่ให้ถูกพัดพาไปยังที่อื่น โดยทั่วไปแล้ว เขื่อนกันทรายและคลื่น มีลักษณะเป็นเขื่อนคอนกรีต สร้างที่ปากแม่น้ำและช่องเปิดระหว่างเกาะสันดอน เพื่อรักษาให้ช่องเปิดนั้นคงอยู่สำหรับการคมนาคมทางน้ำ และการเดินเรือ

o คันดักตะกอน ถูกสร้างในแนวตั้งฉากกับชายฝั่ง โดยมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับเขื่อนกันทรายและคลื่น แต่คันดักตะกอนมักถูกสร้างบนชายหาดตามแนวขวาง ไม่เกี่ยวกับปากแม่น้ำหรือช่องแคบแต่อย่างใด คันดักตะกอนมักถูกสร้างบนชายหาดเป็นชุดในลักษณะขนานกัน  โดยวัสดุที่ใช้ก่อสร้างอาจเป็นไม้ คอนกรีต เหล็ก หรือหินก็ได้

o กำแพงกันคลื่น เป็นกำแพงที่ถูกสร้างบนชายหาดขนานไปตามแนวชายฝั่ง ระหว่างแผ่นดินกับทะเล กำแพงกันคลื่นมักสร้างจากคอนกรีตหรือหินซึ่งขนาดใหญ่มาก

ในขณะที่สิ่งก่อสร้างเหล่านี้สามารถป้องกันที่อยู่อาศัย และอาคารริมทะเลได้ แต่ก็ถูกกล่าวหาว่า พวกมันก็เป็นตัวเร่งการพังทลายของชายหาดในขณะเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น เขื่อนกันทรายและคลื่น และคันดักตะกอนนั้น ต่างทำหน้าที่หยุดการเคลื่อนตัวของทรายชายฝั่ง โดยป้องกันไม่ให้กระแสน้ำชายฝั่งพัดนำตะกอนไปตามชายฝั่งได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการงอกขึ้นของชายหาดด้านที่ได้รับการป้องกัน แต่ชายหาดที่อยู่ปลายน้ำถัดไปนั้นจะไม่ได้รับตะกอนทราย ที่ถูกพัดพามาด้วยระบบกระแสน้ำชายฝั่งตามธรรมชาติ จึงทำให้ไม่มีตะกอนและทรายมาหล่อเลี้ยงในบริเวณนั้นอีกต่อไป และทำให้เกิดการพังทลายอย่างรุนแรงของชายฝั่งขึ้น

การห้ามสร้างสิ่งก่อสร้างป้องกันฝั่ง

ที่ผ่านมาทางการรัฐนอร์ทแคโรไลนาได้พยายามหลีกเลี่ยง การใช้โครงสร้างป้องกันชายฝั่งสำหรับควบคุมการกัดเซาะ ของชายฝั่ง  ในปี1985 คณะกรรมาธิการทรัพยากรชายฝั่งแห่งรัฐนอร์ทแคโรไลนา (CRC) ซึ่งมีอำนาจออกนโยบายสำหรับแผนงานการจัดการชายฝั่ง ได้ศึกษาผลกระทบของสิ่งก่อสร้างป้องกันชายฝั่งต่อชายหาด ในรัฐอื่นๆ และสรุปว่า ผลกระทบทางลบของสิ่งก่อสร้างดังกล่าว สามารถทำให้เกิดความเสียหายต่อขายหาดในรัฐนอร์ธแคโรไลนา อย่างไม่สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ เป็นผลให้ CRC เสนอห้ามก่อสร้างโครงสร้างแข็งแบบต่างๆ เพื่อป้องกันอาคารตามชายฝั่ง ซึ่งการห้ามดังกล่าวจะยกเว้นในกรณีของการป้องกันสิ่งปลูกสร้าง ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ซึ่งที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายจากที่ตั้งเดิมได้ และการรักษาทางน้ำสำคัญที่จำเป็นต่อการเดินเรือ

การห้ามก่อสร้างโครงสร้างป้องกันฝั่งนี้ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีการนำมาใช้ในทางปฏิบัติเป็นเวลา 15 ปีแล้วก่อนที่จะมีการนำขึ้นสู่ชั้นศาลในปี 2000 ซึ่งต่อมาในปี 2003 สภานิติบัญญัติแห่งรัฐนอร์ทแคโรไลน์ได้ลงคะแนนเสียงเป็น เอกฉันท์ ให้มีกฎหมายห้ามก่อสร้างป้องกันชายฝั่งอย่างเป็นทางการ โดยทางสภานิติบัญญัติได้ห้ามการก่อสร้างป้องกันฝั่งใหม่ใดๆ ขึ้นตามชายฝั่งของนอร์ทแคโรไลนา

นโยบายอันเผ็ดร้อน

การออกกฎหมายห้ามก่อสร้างดังกล่าว เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงมาเป็นระยะๆ โดยกลุ่มผู้ถือครองอสังหาริมทรัพย์บนชายฝั่ง ต่างคัดค้านกฎหมายดังกล่าว เพราะทะเลได้ค่อยๆคืบคลานเข้าสู่บริเวณที่อยู่อาศัย และที่ตั้งกิจการของพวกเขาเรื่อยๆซึ่งในหลายกรณีนั้น ผู้ถือครองอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ ได้สร้างที่อยู่อาศัยให้ห่างจากแนวชายฝั่ง ตามที่กฎหมายของรัฐกำหนดแล้ว แต่พายุเฮอร์ริเคนและพายุรุนแรงอื่นๆ ทำให้ความกว้างของชายหาดเปลี่ยนแปลงอย่างมากและฉับพลัน รวมทั้งยังทำให้กระบวนการทางธรรมชาติช้าลง เช่น การเคลื่อนที่ของทรายชายฝั่งที่เปลี่ยนไปอย่างช้าๆด้วย การห้ามก่อสร้างโครงสร้างแข็งป้องกันชายฝั่ง ทำให้ผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ตามแนวชายฝั่ง ไม่มีทางเลือกในการป้องกันทรัพย์สินและธุระกิจพวกเขาเลย เมื่อทะเลรุกคืบเข้ามา

เงินที่สะพัดจากนักท่องเที่ยวยังทำให้ข้อถกเถียงนี้ดำเนินต่อไป ผู้คัดค้านกฎหมายดังกล่าวเห็นว่า กฎหมายดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น ตามแนวชายฝั่ง เพราะทำให้ผู้คนไม่ต้องการก่อสร้างอาคารบนชายฝั่ง การสร้างที่อยู่อาศัยที่ลดลงนั้นทำให้การใช้จ่ายเงินในท้องถิ่น ลดลงตามไปด้วย ซึ่งผู้สนับสนุนกฎหมายได้ออกมาแย้งว่า การมีกฎหมายดังกล่าวกลับช่วยรักษาความงามตามธรรมชาติ ของชายหาดไว้ ซึ่งเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ให้เข้ามายังรัฐนอร์ทแคโรไลนาปีแล้วปีเล่า

ในปี 2007 กลุ่มนักธรณีวิทยากว่า 40 คน ได้ออกแถลงการณ์ผลักดันให้ทางการของรัฐนอร์ทแคโรไลนา ดำเนินนโยบายห้ามการก่อสร้างโครงสร้างแข็งป้องกันชายฝั่ง โดยกล่าวว่า หากไม่มีกฎหมายกดังกล่าวแล้ว ชายฝั่งของรัฐจะได้รับความเสียหายจากการพังทลาย ตลอดแนวชายฝั่ง

uploadpic2

เขื่อนกันทรายและคลื่นที่  Surfside Beach รัฐเท็กซัส

uploadpic3

คันดักทราย ที่  Bolinas รัฐแคลิฟอร์เนีย

uploadpic4

กำแพงกันคลื่น ที่  Isle of Wight ประเทศอังกฤษ

กรณีของคันดักตะกอนปลายทาง

ร่างกฎหมายของวุฒิสภาที่ถูกเสนอในปี 2009 นั้น  ได้อนุญาตให้มีข้อยกเว้น สำหรับการห้ามก่อสร้างโครงสร้างแข็งป้องกันฝั่ง โดยร่างกฎหมายที่ 832 เสนอให้มีการอนุญาตให้ก่อสร้าง “คันดักตะกอนปลายทาง” ซึ่งเป็นคันดักทรายชนิดหนึ่งที่สร้างจากหินหรือเหล็ก มักสร้างไว้บริเวณช่องแคบตอนปลายของกลุ่มเกาะสันดอน เพื่อปกป้องอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ใกล้ช่องแคบเกาะสันดอนตาม ธรรมชาติ ซึ่งเป็นจุดที่อ่อนไหวต่อการรับผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงของชายหาดเป็นพิเศษ

ผู้ที่ต้องการให้มีการก่อสร้างโครงสร้างป้องกันฝั่งกล่าวว่า คันดักตะกอนดังกล่าวเพียงแค่ดักทรายบางส่วนเอาไว้ และปล่อยให้ส่วนที่เหลือถูกน้ำพัดออกไปเท่านั้น ซึ่งจะไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของชายหาดมาก อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ได้ยืนยันว่า แม้แต่คันดักตะกอนปลายทางเองก็ทำให้หาดทรายที่อยู่ถัดไป เสียหายได้ และหากอนุญาตให้สร้างโครงสร้างแข็งป้องกันชายฝั่งได้แม้แต่ ประเภทเดียว ก็จะทำให้มีการออกกฎหมายอนุญาตให้สร้างโครงสร้างป้องกัน ชายฝั่งประเภทอื่นๆ ที่สร้างความเสียหายให้ชายหาดอย่างรุนแรงตามมาในอนาคต

จำนวนประชากรบนบริเวณชายหาดที่มากขึ้นทุกปีนั้น ทำให้การสร้างความสมดุลระหว่างสิทธิในการครอบครอง อสังหาริมทรัพย์ และความมั่นคงเชิงนิเวศวิทยาของชายฝั่งนอร์ทแคโรไลนา ยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกสำหรับสภานิติบัญญัติของรัฐต่อไป.

ผู้แปล วรรษมน อุจจรินทร์ (โครงการวิจัย “โครงการนโยบายสาธารณะเพื่อการใช้ประโยชน์หาดทรายอย่างยั่งยืน”)

This entry was posted in วิชาการ. Bookmark the permalink.

1 Response to การพังทลายของชายฝั่งและการห้ามก่อสร้างโครงสร้างแข็งป้องกันฝั่ง

  1. BWN says:

    รูปไม่แสดงในเนื้อหา ช่วยแก้ไขหน่อย

Leave a comment